หนังสืออยู่กับดิน
คำนำ
ผมทำบ้านดินครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 จนถึงทุกวันนี้นับได้ 13 ปีกว่าแล้ว หลังจากที่ผมทำบ้านดินมาได้ 5 ปี ผมรู้สึกอยากหยุด เพราะเหนื่อยกับการเดินทาง ผมเมารถเก่งมากและอยากอยู่กับที่ อยากทำสิ่งที่อยากทำมากกว่า นั่นคือการทำสวนและเก็บเมล็ดพันธุ์ ความจริงแล้วผมไม่ชอบการก่อสร้างเลย แต่ที่ทำมาโดยตลอด เพราะมีคนสนใจ จนมาถึงปีนี้ผมคิดว่าผมต้องหยุดเพื่อที่จะได้ทำอย่างอื่นบ้าง จึงตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อถ่ายทอดช่วงเวลาการทำบ้านดินตลอด 13 ปีที่ผ่านมาว่าผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทั้งวิธีการทำบ้านดิน วิธีคิด และความลับของชีวิต ซึ่งทุกๆ อย่างได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผมเห็นว่าประสบการณ์ทั้งหมดนั้นสำคัญมาก เพราะบ้านดินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของผมง่ายและสบายขึ้น
ผมตั้งใจเขียนประสบการณ์ทั้งหมดเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์กับบางคนที่กำลังรู้สึกเหนื่อยหน่ายท้อแท้กับการ ดิ้นรนแสวงหาเงินทองเพื่อที่จะซื้อบ้านสักหลัง แต่ยิ่งดิ้นรน ยิ่งหา ก็ยิ่งดูถอยห่างไกลออกไปจนบางครั้งถึงกับสิ้นหวัง ชีวิตนี้คงไม่มีทางมีบ้านได้ ซึ่งตัวผมเองก็เคยรู้สึกเช่นนั้นมาก่อน
หนังสือเล่มนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกเปลี่ยนไป อาจทำให้คนที่สิ้นหวังมีความหวังขึ้นมาได้ เพราะชีวิตเป็นเรื่องง่าย แต่เพราะเราพัฒนาวิธีคิดให้มันยาก ชีวิตก็เลยยากและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนเรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากโดยไม่รู้ตัว
ที่สำคัญ ผมได้สรุปขั้นตอนและทุกเทคนิคการทำบ้านดินตั้งแต่เริ่มทำจนถึงทุกวันนี้ไว้ ในหนังสือเพื่อเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังจะทำบ้านดินหรือผู้ที่ต้องการศึกษา เรียนรู้ทั่วไป ซึ่งน่าจะช่วยให้ขั้นตอนในการเรียนรู้และการลองผิดลองถูกน้อยลง พัฒนาต่อยอดต่อไปได้ง่ายขึ้น
ในโอกาสนี้ผมขอขอบคุณทุกคนที่ทำ บ้านดิน เพราะทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการสร้างห้องเรียน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนอื่นๆ ได้ร่วมเรียนรู้อย่างมากมาย ความรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้จริงในชีวิต สร้างเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย อาคารเรียน รีสอร์ท ร้านค้า ห้องประชุม โบสถ์ หรือกุฏิ มากกว่า 1,000 หลังในประเทศไทย คนจำนวนไม่น้อย เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนชีวิต มีความหวังและความสุขมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการบอกให้คนรู้ว่า ชีวิตมีทางเลือก หลายคนได้เลือก หลายคนกำลังจะเลือก
ขอขอบคุณทุกคนที่อยู่ในกระแสของบ้านดิน
– โจน จันใด
คำนิยม
“โจน จันได เป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างให้เราได้ตระหนักว่า ความสุขนั้นอยู่ใกล้ตัวอย่างยิ่ง ชีวิตที่เปี่ยมสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายนั้นแท้จริงคือสิ่งเดียวกันรวมเขาได้ ชี้ให้เห็นว่าความสุขจากการ “เสพ”นั้น ไม่อาจเทียบเท่ากับความสุขจากการ “สร้าง” ไม่ว่า ปลูกผัก หรือสร้างบ้านดิน”
– พระไพศาล วิสาโล
——————————————————————-
“ให้ความรู้ในการสร้างบ้านดิน ตั้งแต่ออกแบบจนกระทั่งงานตกแต่งภายใน พร้อมภาพประกอบเป็นขั้นตอน ชนิดที่ว่าถ้าจะทำจริงก็ออกไปย่ำดินกันได้เลย แต่นอกจากความรู้แบบฮาวทู ที่สำคัญคือแรงบันดาลใจของการใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่รุงรัง เน้นการพึ่งพาตัวเอง เล่าด้วยภาษาซื่อๆ ง่ายๆ ลองอ่านก่อนจะเซ็นสัญญาซื้อคอนโดก็น่าจะดี”
– ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
——————————————————————-
เมื่อ 2-3 ปีก่อน ในช่วงที่ผมทำงานที่กรุงเทพฯ และคิดจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่ง ผมไปดูคอนโดมิเนียม 3-4 แห่งที่เปิดให้จองในละแวกไม่ไกลนักจากที่ทำงาน พอฟังรายละเอียดจากพนักงานขาย ผมก็ต้องหนักใจกับราคาค่างวดที่ต้องผ่อนส่ง และระยะเวลาที่ยาวนานถึง 30 ปี มันทำให้ผมคิดว่า กว่าจะผ่อนค่าห้องจนหมด ผมอาจจะตายไปก่อนแล้วก็ได้
ความต้องการที่จะมีบ้านสักหลัง หนึ่งเป็นของตัวเองช่างเป็นเรื่องลำบากยากเย็นสำหรับผมเหลือเกิน ต้องตกเป็นทาสยาวนานถึง 30 ปีเชียวหรือกับการที่จะมีบ้านเอาไว้ซุกหัวนอนสักหลังหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วพื้นที่ห้องมันก็ไม่ได้กว้างอะไรนัก ผมทนไม่ได้หรอกที่จะต้องเป็นหนี้เป็นสินเป็นเวลายาวนานขนาดนั้น
………
แล้วจะทำอย่างไร ? มันมีทางออกอื่นด้วยหรือ ? ยิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าจะปลูกบ้านเอง จะเอาที่ดินที่ไหนมาปลูกบ้าน มันเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนที่มีเงินเดือนไม่มาก.. ถ้าหากมีที่ดิน แล้วจะจ้างสถาปนิกมาออกแบบบ้านให้ จ้างช่างรับเหมาก่อสร้างมาสร้างบ้านให้ ก็มีงบไม่พอ กลุ้มใจปวดหัวตั้งแต่การออกแบบบ้าน เรื่องวัสดุก่อสร้างเช่นกัน จะรู้เท่าทันช่างหรือเปล่า ผมคิดกังวลไปต่างๆ นานา ไหนจะค่าก่อสร้างอีกล่ะ ยิ่งเห็นเพื่อนบ้านสร้างบ้านหลังเล็กนิดเดียว แต่ต้องหมดเงินไปล้านกว่าบาท แล้วก็ยิ่งกลุ้มใจ ผมจะเอาเงินที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่าย
………
เอาไปเอามา เรื่องการสร้างบ้านก็กลายเป็นเรื่องยาก คนอย่างผมเข้าถึงไม่ได้ เรื่องการสร้างบ้านไปตกอยู่ในมือของผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิก วิศวกร ผูกขาดกันอยู่อย่างนั้น คนอย่างผมมีหน้าที่ไปทำงานๆๆๆ หาเงินมาสร้างบ้าน ถ้าเงินไม่พอก็ไปกู้ แล้วผ่อนส่งดอกเบี้ยแพงๆ ระยะยาว ผ่อนนานจนกลายเป็นลุง เป็นย่า เป็นตา เป็นยาย กว่าจะชำระหนี้สินได้หมด (โอ..แม่เจ้า..) สุดท้ายแล้ว ความฝันที่จะมีบ้านของตัวเองสักหลังในกรุงเทพฯ ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
………
เมื่อเวลาผ่านไป จนทุกอย่างสุกงอม ผมอิ่มตัวกับการทำงานประจำในกรุงเทพฯ และเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็ลาออกจากงานประจำไปใช้ชีวิตในชนบท คิดจะไปปลูกผักหักฟืน ใช้ชีวิตง่ายๆ ส่วนบ้านที่จะใช้อยู่อาศัย ก็อยากจะสร้างเป็นบ้านดิน ที่ใช้วัสดุก่อสร้างประเภทที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างน้อยกว่าบ้านคอนกรีตมากๆ ก็เลยไปเรียนรู้การสร้างบ้านดินในคอร์สเอาจริง (ภาคภาษาไทย รุ่นแรก) ของคุณโจน จันใด และทีมงาน ที่สวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่นั่น คุณโจน ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่สอนเรื่องการสร้างบ้านดิน ที่จริงแล้วก็สอนหลายอย่างหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการปลูกผัก การเก็บเมล็ดพันธุ์พืช โยคะ ภาวนา การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติ ฯลฯ รวมๆ แล้วก็คือเรื่องปัจจัยสี่ คนเราถ้าพึ่งตัวเองได้ในเรื่องปัจจัยสี่ก็สบายแล้ว ถ้าไม่อยากได้ อยากมี ถ้าไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ก็ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก ถ้าทำตัวติดดิน เปื้อนดินได้ ใช้แรงงานได้ กินผักปลอดสารเคมีที่ปลูกเอง ร่างกายก็จะแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ ชีวิตก็จะง่ายและสบายขึ้น
………
ยิ่งถ้าหากสามารถสร้างบ้านดินขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วย ก็คือ ความมั่นใจ ความภูมิใจในการเป็นได้ทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง ควบคุมกำหนดชะตากรรมได้ด้วยตัวเอง โดยมีผลสำเร็จคือบ้านหลังหนึ่งที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้จริง เป็นบ้านที่เราออกแบบเอง มีห้องหับตามใจผู้อยู่ สะดวกสบายตามอัตภาพ ภายในบ้านเย็นสบาย ไม่ร้อน เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องติดแอร์ ใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับการไปซื้อบ้าน หรือจ้างผู้รับเหมามาก่อสร้างบ้านให้
………
ตามความคิดของผม ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของบ้านดินควรเป็นผู้สร้างเอง ค่อยๆ สร้างค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย คุณโจนเล่าว่า เมื่อครั้งที่สร้างบ้านดินหลังแรกสุด เขาใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 เดือนก็ได้บ้านดินหลังแรก สำหรับอยู่อาศัยแล้ว แต่ช่วงที่ผมไปอบรมที่สวนพันพรรณ ปรากฏว่า ใช้คนราวๆ 20 คน ก็สร้างบ้านได้เสร็จหลังหนึ่งในระยะเวลาเพียง 20 วันเท่านั้น ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้ทำทุกวัน เพราะมีบางวันที่ต้องรอให้ดินแห้ง วิธีนี้ก็เหมือนกับการลงแขกสร้างบ้าน บ้านดินจะขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างเร็วมากในช่วงก่ออิฐ มันทั้งเร็ว ทั้งสนุก สนุกจนไม่อยากเลิกงานในแต่ละวัน
………
บ้านดินที่สร้างมาได้นั้น ไม่ได้เป็นบ้านที่สวยมาก ไม่ได้เนี๊ยบมาก เพราะว่า ไม่ได้สร้างโดยช่างผู้ชำนาญ แต่ถ้าจะทำให้บ้านดินมันเนี๊ยบก็ทำได้ จะตกแต่งให้สวยแบบรีสอร์ทก็ทำได้ ขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของบ้านอยากจะทำ และมีฝีมือมากพอหรือเปล่า
………
ถ้าคุณไม่มีเวลา ไม่มีแรงมากพอที่จะสร้างบ้านด้วยตัวเอง ก็มีบริการรับจ้างสร้างบ้านดิน ลองหาดูผ่าน Google เอาเถิด เพียงแต่ว่าคุณอาจจะต้องรอนานสักหน่อย เพราะทุกวันนี้ งานของช่างรับเหมาสร้างบ้านดินก็ล้นมือกันอยู่แล้ว ทำอย่างไรได้ ในเมื่อคนอยากได้บ้านดินมีอยู่เยอะแยะ แต่ช่างที่สร้างบ้านดินเป็นมีอยู่ไม่มาก ในทำนอง Demand สูง Supply น้อยนั่นเอง.. คุณโจนเล่าว่า คนที่สร้างบ้านดินเป็น สร้างบ้านดินอยู่ ก็คือคนที่ไม่อยากทำธุรกิจอะไรแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ให้บริการรับสร้างบ้านดินในประเทศไทยจึงมีอยู่น้อยมาก ขณะที่ความต้องการบ้านดินในสังคมไทยก็มากขึ้นเรื่อยๆ มีรีสอร์ทหลายแห่งก็เป็นรีสอร์ทบ้านดิน บางแห่งทนรอช่างไม่ไหว ถึงกับสร้างบ้านด้วยคอนกรีต แต่เลียนแบบให้เป็นเหมือนบ้านดินก็มี
………
คุณจะได้อะไรจากการอ่านหนังสือ “อยู่กับดิน” ของ คุณโจน จันใด เล่มนี้.. คุณจะได้รู้ที่มาที่ไปว่า บ้านดินมันเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยในบางประเทศมาเป็นเวลายาวนานนับ พันปีแล้ว และบ้านดินก็มีความแข็งแรงคงทนมากกว่าที่คุณคิดไว้ คุณจะได้รู้ว่าช่วงที่คุณโจนสร้างบ้านด้วยดินหลังแรกนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และสิ่งที่คุณจะได้หลักๆ เลยจากหนังสือเล่มนี้ ก็คือ เทคนิคในการสร้างบ้านดิน โดยมีภาพประกอบอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ก่อสร้าง การออกแบบบ้าน การทำฐาน การทำอิฐ การฉาบผนัง การทำสี ฯลฯ รวมถึงทัศนคติในการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านดิน.. ผมคิดว่าจากประสบการณ์ 16 ปีในการสร้างบ้านดิน ทำให้คุณโจนกลายเป็นคนที่รู้เรื่องบ้านดินที่ดีที่สุดแล้วในประเทศไทย ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือที่ถอดประสบการณ์การสร้างบ้านดินของคุณโจน แต่อยากสร้างบ้านดิน ก็คงเป็นเรื่องแปลกประหลาด
………
ในฐานะของคนที่อยากมีบ้านดินเหมือนกัน ผมก็จะแนะนำกับคุณว่า ซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่านเถิดครับ อ่านเสร็จแล้ว ก็ลงมือสร้าง อย่าไปเสียเวลากับทฤษฎีมากนัก ลงมือทำไปเลย อะไรที่ทำแล้วง่าย สะดวก ได้ผลสำเร็จ แสดงว่าถูกต้อง อะไรที่ทำแล้วยาก ไม่สะดวก ก็แสดงว่าผิด..อันนี้คุณโจนเขาสอนมา
– ครรชิต จูประพัทธศรี ผู้เข้าร่วมคอร์สเอาจริง สวนพันพรรณ
เมษายน 2555