หนังสืองานเก็บเมล็ดพันธุ์คืองานสุดท้ายในชีวิตผม

…เราเป็นเหมือนมนุษย์ยุคสุดท้าย
ที่เนรคุณต่อบรรพบุรุษต่อธรรมชาติ
ยิ่งพัฒนามาก เราก็ยิ่งทำลายตัวเองมาก…

“บรรพบุรุษของเราพัฒนาพันธุ์ที่แข็งแรงเพื่อส่งมาให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันภาคธุรกิจกับรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อตลาดอย่างเดียว โดยพัฒนาให้ได้พันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด ต้องใช้สารเคมีถึงจะอยู่ได้ ให้ผลผลิตเยอะจริง แต่ให้ครั้งเดียวแล้วตายหมด

ฉะนั้นเราพัฒนาพันธุ์ที่แย่ที่สุดเพื่อที่จะส่งมอบให้ลูกหลานเป็นมรดกต่อไป ผมเลยรู้สึกว่าเราเป็นเหมือนมนุษย์ยุคสุดท้ายที่เนรคุณต่อบรรพบุรุษ ต่อธรรมชาติ ต่อทุกอย่างเลยการพัฒนาอาหารของเราปัจจุบันนี้ คือการทำลายทุกอย่าง ชีวิตเราอยู่ในมือบริษัทไม่กี่บริษัท แม้จะมีเงินเป็นร้อยๆ ล้าน แต่เขาเอาอาหารจีเอ็มโอมาให้กิน เรามีทางเลือกไหม เราต้องเลี้ยงลูกด้วยซีรีแล็คที่ใช้ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ เรากินน้ำอัดลมซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลที่ทำจากข้าวโพดจีเอ็มโอเพราะมันถูกที่สุดในเมื่อไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ เรามีความจำเป็นอะไร ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงเพื่อความร่ำรวยของบริษัทเหล่านี้ เราเชื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ไหม เชื่อไม่ได้ คนที่ผลิตดีดีทีขึ้นมาได้รับรางวัลโนเบล สหประชาชาติประกาศว่าดีดีทีเป็นสารมหัศจรรย์ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สั่งให้ทุกประเทศใช้ดีดีทีปราบยุงลาย พอเอาดีดีทีไปฉีดในป่าอเมริกาเหนือทำให้กวางเป็นมะเร็ง กบมี 5 ขา 40 ปี ผ่านไปถึงรู้และประกาศให้ดีดีทีเป็นสารผิดกฎหมายถ้าคนเรากินพืชจีเอ็มโอ 40-50 ปี ข้างหน้า คนคลอดลูกมามี 7 ขา ใครรับผิดชอบชีวิตเหล่านี้ แล้วเราจะเอาชีวิตไปเป็นหนูทดลอง เพื่อความร่ำรวยของมอนซานโตเพื่ออะไรกัน มันไม่คุ้มเลยใช่ไหม”

โจนและภรรยาของเขาได้ริเริ่มก่อตั้ง “ศูนย์พันพรรณ” ขึ้นที่ อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ ด้วยเงินเพียงไม่กี่บาท อาศัยก็แต่ลงแรงเท่านั้น–แน่นอน บ้านทุกหลังในนั้นย่อมต้องสร้างด้วยดินเขาบอกว่านอกจากไว้เป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแล้ว ยังเป็นแหล่งให้คนเข้ามาเรียนรู้ที่จะ “อยู่อย่างง่ายๆ” โดยการใช้ชีวิตเป็นตัวอย่าง

“พันพรรณมีความหมายว่าร้อยพ่อพันแม่ คนจากทั่วโลกมาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้วีถีชีวิตที่เรียบง่าย เราเก็บเมล็ดพันธุ์แทบทุกชนิดที่เป็นอาหาร เน้นเก็บพันธุ์ผักเป็นหลัก และเป็นพันธุ์ที่ตลาดนิยมมากที่สุดในตอนนี้ เพราะเป็นพันธุ์ที่บรรษัทข้ามชาติต้องการผูกขาดมากที่สุด ฉะนั้นเขาจะพัฒนาพันธุ์ผสมออกมาเร็วมากยิ่งผลิตออกมาเร็วก็จะยิ่งเบียดให้พันธุ์แท้หายไปเร็วขึ้น….”

___________________________

หนังสือลำดับที่สอง
**งานเก็บเมล็ดพันธุ์คืองานสุดท้ายในชีวิตผม**
รวมบทสัมภาษณ์เรื่องราวการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและการพึ่งตนเอง ของ โจน จันใด

– โจน จันใด คนจนผู้ยิ่งใหญ่ /นราวุธ ไชยชมภู
– โจบ้านดิน ผู้ผันตัวเองมาเป็นคนเก็บเมล็ดพันธุ์ /วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
– ศูนย์พันพรรณของโจน จันใด /ณัฐภูมิ สุดแก้ว
– สัมภาษณ์ โจน จันใด /ทรงกลด บางยี่ขัน
– การพึ่งตัวเอง ไม่ใช่การทำอะไรเองทั้งหมด /ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

>> สนใจซื้อหนังสือกับพันพรรณ