หนังสือ “กลับบ้าน”
“บ้าน” ของใครบางคนอาจเป็นหลัง เป็นห้องหับ มีหลังคากางกั้น บ้านของใครบางคนอาจคือตัวกับใจ แต่สำหรับ โจน จันได บ้านกินความหมายถึงชีวิตทั้งชีวิต ชีวิตที่ตั้งคำถามที่คนอื่นเขาไม่ถาม ชีวิตถือกำเนิดจากครรภ์มารดา จากแม่ผู้ให้กำเนิด แม่ที่ให้แผ่นดินเหยียบยืน แม่ที่ให้น้ำและอาหาร การ “กลับบ้าน” จึงมีหมายถึงการกลับสู่ชีวิต กลับไปสำนึกรู้ในคุณของแม่ กลับมาเยียวยาแม่ด้วยร่างกาย จิตวิญญาณ เหงื่อ และน้ำตา ทั้งตัวลูกและแม่จึงได้รับการเยียวยาผ่านการกลับบ้านครั้งนี้ หากหนังสือเล่มนี้ถือเป็นจดหมาย นี่คงเป็นจดหมายรักที่เรียบง่ายและซื่อตรง ในขณะเดียวกันก็กระตุกเตือนให้คนเป็นลูกตระหนักถึงคุณของแม่และความหมายของชีวิต
คำนำ
“แทบทุกคนต่างดิ้นรนแสวงหาความสำเร็จในชีวิต ตลอดเส้นทางอันยาวนานนี้ต่างก็เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ และเกิดความสับสน หรือหลงทาง จะสู้ต่อไปก็เหนื่อยเหลือเกิน ความสำเร็จอยู่ที่ไหนก็ยังมองไม่เห็น จะถอยหลังก็จะถูกดูแคลนจากผู้คน อายคนอื่น หนี้สินก็พอกพูนไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เกิดความสิ้นหวัง มืดมน คนจำนวนมากตกอยู่ในสถานการณ์นี้ ผมคือหนึ่งในนั้น
วันนี้ผมเจอทางออกให้กับตัวเอง แม้จะไม่ใช่ทางออกที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ทุกคนแสวงหา แต่ผมเห็นว่ามันมีค่าและยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จที่เคยฝันถึง เพราะมันเปลี่ยนชีวิตผมอย่างสิ้นเชิง ชีวิตผม ง่ายขึ้น เบาสบายขึ้น ความกลัว ความกลุ้มกังวลลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ ตอนนี้ผมสามารถเพลิดเพลิน สนุกสนานกับการมีชีวิตได้มากขึ้น ผมเริ่มเห็นความงดงามในการมีชีวิตอยู่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ผมเลยอยากบอกคนอื่นที่กำลังตกอยู่ในวังวนของชีวิตที่ซับซ้อนจนรู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางออก ว่ายังมีทางเลือกหลายทางที่จะพาเราออกไปจากวังวนนี้ได้ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงทางเลือกที่ผมเลือก มันอาจจะไม่ใช่ทางที่เหมาะกับทุกคน แต่มันดีที่สุดสำหรับผม เลยอยากเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อเป็นตัวอย่างเป็นแนวทางให้รู้ว่าชีวิตมีทางเลือก มีทางออกเสมอ
ขอให้ทุกคนมีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง และแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า ชีวิตเกิดมาครั้งเดียวทำไมต้องจำทนกับสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ในเมื่อเรามีทางเลือกอื่นรออยู่”
-โจน จันใด